หอสมุด กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง บริเวณสี่แยกคอกวัว เป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่กิจกรรมสำหรับเยาวชนทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ภายในมีหนังสือหลากหลายประเภท แบ่งออกตามรูปแบบการใช้งานทั้งหมด 4 ชั้น ได้แก่
ชั้น 1
ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนที่ผลัดเปลี่ยนกันมาให้ความรู้ครอบคลุมทั้งเรื่องศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ และสังคม นอกจากนี้ยังมีห้องคลังนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ส่วนบริการข้อมูลภายในหอสมุดและข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว ห้องฉายภาพยนตร์ และห้องสมุดสำหรับผู้พิการ ประกอบด้วยห้องสมุดเสียง หนังสืออักษรเบรลล์ สื่อภาพ และสื่อโสตทัศน์ต่างๆ
ชั้น M
เป็นชั้นสำหรับเด็ก ซึ่งรวบรวมหนังสือและวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน รวมไปถึงกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับครอบครัว
ชั้น 3
รวบรวมองค์ความรู้และโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็นหอจดหมายเหตุกรุงเทพมหานคร รวบรวมเรื่องราว เอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์ และโสตทัศนวัสดุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานครในด้านต่างๆ อาทิ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสถาปัตยกรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการคมนาคม ผังเมือง ประชากร เขตพื้นที่ทั้ง 50 เขต ศาสนา รวมไปถึงโครงการต่างๆ และหนังสือพิเศษที่หน่วยงานกรุงเทพมหานครเป็นผู้ผลิตขึ้น
ประวัติความเป็นมา
สืบเนื่องจากกรุงเทพมหานครได้รับเลือกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้เป็นเมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 (World Book Capital 2013) ซึ่งโครงการจัดตั้งหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Library) เป็นหนึ่งใน 9 พันธกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร ตามแผนงานส่งเสริมการอ่านที่ได้เสนอแก่องค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายที่จะสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็น “มหานครแห่งการเรียนรู้” เพื่อเพิ่มแหล่งการเรียนรู้ใหม่ที่รวบรวมองค์ความรู้อันทรงคุณค่าและแหล่งภูมิปัญญาด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่ทันสมัยครบวงจร เป็นการสร้างวัฒนธรรมการอ่านอย่างยั่งยืนในระยะยาวให้กรุงเทพมหานครเป็น “มหานครแห่งการเรียนรู้” อย่างแท้จริง
กรุงเทพมหานครได้เช่าอาคารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว ซึ่งเป็นหนึ่งในอาคาร 15 หลังเรียงรายสองฟากถนนราชดำเนิน อาคารหลังนี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 4,880.38 ตารางเมตร มีความเป็นมาแรกเริ่มภายใต้พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ให้สร้างถนนราชดำเนิน ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2482 – 2491 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ต่อเนื่องถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ได้ทำการปลูกสร้างกลุ่มอาคารสาธารณะประเภทต่างๆ ได้แก่ อาคารพาณิชย์ โรงแรม และโรงมหรสพ รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลแนวนีโอ-พลาสติก ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ เช่น มีกันสาดบางๆ คลุมหน้าต่าง มีขอบปูนปั้น และการใช้ลูกกรงเส้นแนวนอน เป็นต้น
ด้วยแนวคิดการอนุรักษ์และเคารพคุณค่าของสถาปัตยกรรมเดิม การออกแบบปรับปรุงอาคารหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครจึงยังคงกลิ่นอายอารยธรรมตะวันตกผสมผสานกับการตกแต่งแบบศิลปะไทย เพื่อคงรูปแบบเดิมไว้มากที่สุด
จุดประสงค์
ริมถนนสายวัฒนธรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชาติแห่งนี้ อาคารหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครเสมือนสถานที่พร้อมส่งต่อเรื่องราวจากอดีตสู่ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครคาดหวังว่าความตั้งใจดีนี้จะสร้างประโยชน์สูงสุดแก่สังคม รวมทั้งปลูกฝังการรักการอ่านแก่ประชาชนและเห็นถึงความงดงามของความเป็นไทยไปพร้อมกัน